ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยทั่วไป มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้แก่ผู้ซื้อ
สินค้าหรือบริการ (เว้นแต่ ผู้ประกอบกิจการค้าปลีกซึ่งมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ) โดยใบกำกับภาษี
แบบเต็มรูปต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
1. คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
คำว่า “ใบกำกับภาษี” เป็นข้อความที่กฎหมายบังคับให้ต้องระบุไว้ในเอกสารซึ่งมีความ
มุ่งหมายให้เป็นใบกำกับภาษี นอกจากนี้ ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนประสงค์จะจัดทำใบกำกับภาษีแบบ
เต็มรูปรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับอยู่ใน
ชุดเดียวกัน และใบกำกับภาษีมิใช่เอกสารฉบับแรกของเอกสารดังกล่าว ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ในใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีของเอกสารชุดดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่า
“เอกสารออกเป็นชุด” ไว้ด้วย
(2) ในสำเนาของใบกำกับภาษี จะต้องมีข้อความว่า “สำเนาใบกำกับภาษี” ไว้ด้วย
ข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” และ “สำเนาใบกำกับภาษี” ตามวรรคหนึ่ง จะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้น
ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายาง
เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือกระทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันไม่ได้
2. รายการคำว่า “ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ
จดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี”
(ก) ชื่อของผู้ออกใบกำกับภาษี หมายถึง ชื่อผู้ประกอบการตามที่ได้จดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือชื่อสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือชื่อการค้าของสถาน
ประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ชื่อของผู้ออกใบกำกับภาษีจะใช้ชื่อย่อไม่ได้
กรณีชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีหรือผู้รับใบกำกับภาษีที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล คำที่
บอกสถานะสามารถใช้คำย่อแทนได้ ดังนี้
(1) บริษัท จำกัด ใช้คำย่อว่า บ. ... จก. หรือ บจ.
(2) บริษัท (มหาชน) จำกัด ใช้คำย่อว่า บมจ. ...
(3) ห้างหุ้นส่วนจำกัด ใช้คำย่อว่า หจก. ...
(4) ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ใช้คำย่อว่า หสน. ...
(ข) ที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษี หมายถึง ที่ตั้งของสถานประกอบการตามที่ได้
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ไว้
กรมสรรพากรได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 199) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2556 กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้จัดทำใบกำกับภาษี
แบบเต็มรูป จะต้องระบุข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการ ซึ่งเป็นสถานที่ขายสินค้าหรือให้บริการ
ไว้ในใบกำกับภาษี ดังนี้
(1) กรณีสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ภ.พ.20) ของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการเป็นสำนักงานใหญ่ ให้ระบุข้อความคำว่า “สำนักงานใหญ่”
หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็นสำนักงานใหญ่ เช่น “สนญ.” “HO” “HQ” เป็นต้น หรือระบุเป็นตัวเลข
ศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เพื่อแสดงว่าตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เป็นรหัสของสำนักงาน
ใหญ่ ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
(2) กรณีสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ภ.พ.20) ของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการเป็นสาขา ให้ระบุข้อความคำว่า “สาขาที่ ...” โดยเลขที่ของสาขา
ให้ระบุเลขที่สาขาตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ เช่น “สาขาที่ ...” “Branch No. …” “br.no …”
เป็นต้น หรือระบุเป็นตัวเลขจำนวนห้าหลักเพื่อแสดงว่าเป็นรหัสของ “สาขาที่ ...” เช่น 00001 ไว้ใน
ใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
ข้อสังเกต
ข้อความตาม (1) (2) จะตีพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วย
ตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด ก็ได้ ทั้งนี้ สำหรับการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ได้จัดทำตั้งแต่วันที่
1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
(ค) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบกำกับภาษี
ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป กรมสรรพากรได้กำหนดให้
ผู้เสียภาษีสรรพากรทุกประเภท ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล บริษัท และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลัก แทนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 10 หลัก ที่ใช้อยู่เดิมในการยื่น
แบบแสดงรายการ การชำระภาษี การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย การติดต่อราชการกับกรมสรรพากร รวมทั้ง
การจัดเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การจัดทำใบกำกับภาษี การจัดทำใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น
โดยการใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลักนั้น ได้แบ่งการใช้ออกตามประเภทของผู้เสียภาษีอากร ดังนี้
(1) ผู้เสียภาษีประเภทบุคคลธรรมดา ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
ที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ออกให้ เป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
(2) ผู้เสียภาษีประเภทนิติบุคคลไทย หรือนิติบุคคลต่างประเทศ ที่ต้องจดทะเบียน
หรือขออนุญาตกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้ใช้เลขทะเบียนนิติบุคคลที่กรมพัฒนาธุรกิจ
การค้า กระทรวงพาณิชย์ ออกให้ เป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
(3) ผู้เสียภาษีที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษี
อากร 13 หลัก ที่กรมสรรพากรออกให้
3. รายการ “ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ”
(ก) “ชื่อ” ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ หมายถึง ชื่อผู้ประกอบการตามที่ได้
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือชื่อสถานประกอบการ หรือชื่อการค้าของสถานประกอบการตามที่ได้
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบุคคลธรรมดาหมายความรวมถึง นามสกุลด้วย
(ข) “ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ” หมายถึง ที่ตั้งของสถานประกอบการ
ตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป กรมสรรพากรได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 199) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2556 กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน
ที่ได้จัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป จะต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนไว้ในใบกำกับภาษี รวมทั้งจะต้องระบุข้อความรายการเกี่ยวกับสถาน
ประกอบการของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในใบกำกับภาษี ดังนี้
(1) กรณีสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ซื้อสินค้าหรือ
ผู้รับบริการเป็นสำนักงานใหญ่ ให้ระบุข้อความคำว่า “สำนักงานใหญ่” หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็น
สำนักงานใหญ่ เช่น “สนญ.” “HO” “HQ” เป็นต้น หรือระบุเป็นตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000)
เพื่อแสดงว่าตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เป็นรหัสของสำนักงานใหญ่ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
(2) กรณีสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ซื้อสินค้าหรือ
ผู้รับบริการเป็นสาขา ให้ระบุข้อความคำว่า “สาขาที่ ...”โดยเลขที่ของสาขาให้ระบุเลขที่สาขาตามที่ได้
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สาขาที่ 1 สาขาที่ 01 เป็นต้น หรือระบุเป็นตัวเลขจำนวนห้าหลักตามที่
ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อแสดงว่าเป็นรหัสของ “สาขาที่ ...” เช่น 00001 ไว้ในใบกำกับภาษี
ดังกล่าวด้วย
ข้อสังเกต
โดยข้อความตามข้อ (1) ข้อ (2) จะตีพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับ
ด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
http://www.rd.go.th/