วัน, วันที่ เดือน ปี ชม:นาที

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคาร

เขียนโดย
ให้คะแนนบทความนี้
(0 โหวต)

เลขที่หนังสือ: กค 0811/17427

วันที่: 25 ธันวาคม 2541

เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคาร

ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/6, มาตรา 83/4, มาตรา 89, มาตรา 89/1, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ

ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 โดยมี
วัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายและซ่อมแซมรถยนต์ บริษัทฯ ได้เริ่มทำ
การก่อสร้างอาคาร เพื่อใช้เป็นที่แสดงรถยนต์และสำนักงานขาย โดยได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างอาคารรวม
3 อาคาร โดยเริ่มก่อสร้างอาคารเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2537 และวันที่ 22 ธันวาคม 2539 ก่อสร้าง
อาคารแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 ต่อมาได้ทำสัญญาให้เช่าพื้นที่อาคารบางส่วนให้กับบริษัท
ก. บริษัท ข. และบริษัท ค. รวม 3 สัญญาโดยบริษัทฯ มีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ภายในอาคาร
สำนักงานดังกล่าว
ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ตั้งแต่เริ่มจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
บริษัทฯ ได้นำค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารทั้งหมดของสำนักงานมาใช้ในการคำนวณภาษีซื้อ โดยบริษัทฯ
มิได้แจ้งรายการประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร ตามแบบ ภ.พ.05.1 ภ.พ.05.2 และ ภ.พ.05.3
ภายในกำหนดเวลาตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ เรื่อง
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่
9 มีนาคม พ.ศ. 2535 เนื่องจากบริษัทฯ เข้าใจผิดว่า รายได้จากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ มีไม่เกิน
ร้อยละ 10 ของรายได้ทั้งสิ้น จึงมีสิทธินำภาษีซื้อของการก่อสร้างอาคารดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขาย
เมื่อบริษัทฯ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในกิจการของตนเอง
ซึ่งเป็นกิจการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเพื่อการอื่น ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเฉลี่ยภาษีซื้อ
ดังนั้นบริษัทฯ จึงขอขยายเวลายื่นแบบ ภ.พ.05.1 ภ.พ.05.2 และ ภ.พ.05.3 ถึงวันที่ 23
ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่บริษัทฯ ได้มายื่นแบบดังกล่าวเพื่อขอเฉลี่ยภาษีซื้อ และในการยื่นแบบล่าช้า
บริษัทฯ ไม่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีอากรแต่ประการใด

แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้ก่อสร้างอาคารขึ้นมาเพื่อใช้ในการประกอบกิจการเป็น
สำนักงานขาย และศูนย์ซ่อมรถยนต์ และได้นำค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารทั้งหมดมาใช้ในการคำนวณ
ภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต่อมาภายหลังเมื่อมีการก่อสร้างอาคารกำลังจะแล้วเสร็จ บริษัทฯ ได้นำ
พื้นที่อาคารบางส่วนออกให้เช่า ดังนั้นการใช้พื้นที่อาคารบางส่วนดังกล่าว จึงเป็นการนำพื้นที่อาคารไปใช้
ทั้งในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จะขอคืนภาษีซื้ออัน
เกิดจากการก่อสร้างอาคารทั้งหมดไม่ได้ จะต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้ออันเกิดจากการก่อสร้างอาคาร
ดังกล่าว ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 โดยบริษัทฯ จะต้องยื่นแบบแจ้งรายการ
ภ.พ.05.1 ภ.พ.05.2 และ ภ.พ.05.3 ในการเฉลี่ยภาษีซื้อตามข้อ 5 (7) แห่ง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
เมื่อบริษัทฯ มิได้แจ้งรายการดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ จะนำภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้ตาม
ประมาณการการใช้พื้นที่อาคารที่นำไปใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปหักออกจากภาษีขายไม่ได้
เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ตามข้อ 5 (7) วรรคสองแห่งประกาศอธิบดีดังกล่าว
2. บริษัทฯ ทราบถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงได้ยื่นแบบ ภ.พ.05.1 ภ.พ.05.2 และแบบ
ภ.พ.05.3 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 เนื่องจากบริษัทฯ มิได้มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม
กฎหมาย แต่เหตุที่ไม่ได้ยื่นแบบดังกล่าวภายในกำหนดเนื่องจากเป็นความเข้าใจผิดของบริษัทฯ ว่ารายได้
จากการให้เช่าอาคารไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ทั้งสิ้น จึงนำภาษีซื้อมาหักภาษีขายได้ทั้งหมด และ
การให้เช่าพื้นที่อาคารดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการใช้อาคารในภายหลัง จึงเป็นเหตุให้
บริษัทฯ ไม่อาจแจ้งรายการดังกล่าวภายในกำหนดเวลา จึงอาศัยอำนาจ ตามข้อ 5 (7) วรรคสอง
แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
อนุมัติขยายเวลาการยื่นแบบแจ้งรายการ ภ.พ.05.1 แบบ ภ.พ.05.2 และแบบ ภ.พ.05.3 ให้แก่
บริษัทฯ ไปจนถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2540 ตามที่บริษัทฯ ได้ยื่นไว้แล้ว
3. สำหรับการนำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคารดังกล่าวที่บริษัทฯ ได้ปฏิบัติไปโดย
นำภาษีซื้อทั้งหมดไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่มีการเฉลี่ยภาษีซื้อ นั้น บริษัท
ฯ จะต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อตามประมาณการการใช้พื้นที่อาคารตามหลักเกณฑ์ ตามประกาศอธิบดีฉบับ
ดังกล่าว และบริษัทฯ ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติม เพื่อนำภาษีซื้อในส่วนที่เฉลี่ยได้ตามประมาณการ
การใช้พื้นที่อาคารสำหรับพื้นที่อาคารที่ไม่ได้นำไปใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งบริษัทฯ ไม่มีสิทธิ
นำไปหักออกจากภาษีขาย แต่บริษัทฯ ได้นำไปหักออกจากภาษีขายแล้ว โดยยื่นแบบเพิ่มเติมในส่วนภาษีซื้อ
ดังกล่าวที่ยื่นไว้เกินตามมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา
89 และเงินเพิ่ม ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย

เลขตู้: 61/27371

https://www.rd.go.th/

อ่าน 1850 เวลา

เขียนข้อความของคุณ

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.